สุรชัย จันทิมาธร


สุรชัย จันทิมาธร


สุรชัย จันทิมาธร หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ หงา คาราวาน เป็นนักร้องนำและหนึ่งในผู้ก่อตั้งวงคาราวาน สุรชัยเป็นนักแต่งเพลงชั้นแนวหน้าคนหนึ่งของวงการเพลงไทย ผู้คนในวงการเพลงเพื่อชีวิตมักเรียกเขาอย่างนับถือว่า น้าหงา หรือ พี่หงา และได้รับฉายาว่า อาจารย์ใหญ่แห่งวงการเพลงเพื่อชีวิต

ประวัติ
สุรชัยเกิดที่อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2491 เป็นบุตรชายคนที่ 4 ของนายยุทธและนางเล็ก จันทินมาธร บิดารับราชการเป็นครูใหญ่โรงเรียนรัตนบุรี ดังนั้นจึงเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านของสุรชัยมาตั้งแต่เด็ก ๆ ที่เมื่อโตขึ้นมาได้เข้ากรุงเทพ ฯ เพื่อเรียนต่อในด้านศิลปะที่วิทยาลัยช่างศิลป์ และได้รู้จักกับนักคิด นักเขียนคนอื่น ๆ ที่ต่อมากลายมาเป็นนักเขียนชั้นแนวหน้าคนอื่น ๆ ของประเทศ เช่น สุวรรณี สุคนธา, สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นต้น ซึ่ง การเป็นนักเขียนของสุรชัยเริ่มต้นขึ้นที่นี่
ในปี พ.ศ. 2516 สุรชัยได้ร่วมกับ วีระศักดิ์ สุนทรศรี (แดง) ก่อตั้งวงท.เสนและสัญจร ขึ้น และเมื่อปี พ.ศ. 2517 ได้รวมกับวงบังคลาเทศ แบนด์ ของมงคล อุทก (หว่อง) และทองกราน ทานา เปลี่ยนเป็นวงคาราวาน สุรชัยได้แต่งเพลงเพื่ออุทิศให้กับบุคคลสำคัญของไทยหลายคน เช่น จิตร ภูมิศักดิ์, ปรีดี พนมยงค์, สืบ นาคะเสถียร และ รงค์ วงษ์สวรรค์
หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา สุรชัยและพรรคพวกบางส่วนได้หลบหนีเข้าป่าไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเฉกเช่นนักศึกษาและปัญญาชนคนอื่น ๆ โดยสุรชัยทำหน้าที่คอยให้ความบันเทิง ร้องเพลง โดยมีชื่อจัดตั้งว่า "สหายพันตา"
เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองสงบลง สุรชัยและพรรคพวกได้เดินทางออกจากป่า และได้แต่งเพลงซึ่งเป็นเพลงอมตะของคาราวานและสุรชัย บอกเล่าถึงสภาพจิตใจที่ออกจากป่ามาสู่เมือง คือเพลง คืนรังซึ่งเป็นเพลงที่แต่งก่อนขึ้นแสดงดนตรีเพื่อการกุศลของยูนิเซฟ โดยใช้เวลาแต่งเพียง 5 นาที แต่ได้ชื่อว่าเป็นเพลงที่ประสบความสำเร็จสูงสุดเพลงหนึ่งเลยทีเดียว

[แก้] ชีวิตส่วนตัว
สุรชัยมีภรรยาสองคนและบุตรชาย 2 คน ภรรยาคนแรกชื่อ จิราพร จันทิมาธร มีบุตรชายคือ คณิน จันทิมาธรส่วนภรรยาคนที่สอง พิสดา จันทิมาธร มีบุตรชายชื่อพิฆเณศร์ จันทิมาธร(กันตรึม) เกิด พ.ศ. 2528

[แก้] ผลงานหนังสือ


สุรชัย จันทิมาธร
เรื่องสั้น
"มาจากที่ราบสูง", "เดินไปสู่หนไหน", "ความบ้ามาเยือน", "ข้างถนน" และรวมเล่มเป็น "ก่อนเคลื่อนคาราวาน"
รวมเรื่องสั้น
"ดวงตะวันสีแดง", "ดอกอะไรก็ไม่รู้" (รวมเรื่องสั้นคัดสรรเน้นฉากเมือง)
บทกวี
"จารึกบนหนังเสือ", "เมดอินเจแปน" และ "เนื้อนัย (เพลง)"
นวนิยายเล่มเดียว
"ก่อนฟ้าสาง"
บันทึกและความเรียง
"จากราวไพร สู่ป่าคอนกรีต", "คือคนลำเค็ญ ดนตรีคาราวาน" และ "ผ่านตา พันใจ"
ผลงานเพลงเด่นๆ
"กุลา", "สานแสงทอง", "คนกับควาย" (สมคิด สิงสง, วิสา คัญทัพ), เปิบข้าว (จิตร ภูมิศักดิ์), "นกสีเหลือง" (วินัย อุกฤษณ์), "ความแค้นของแม่", "บ้านนาสะเทือน", "คนตีเหล็ก", "ดอกไม้ให้คุณ"
[แก้] รางวัล
รางวัลศรีบูรพา ประจำปี พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบสำหรับศิลปิน นักคิดนักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ ผู้มีผลงานอันทรงคุณค่ามีชีวิตที่เป็นแบบอย่าง มาทุกปีตั้งแต่ พ.ศ. 2531