ซูซู (Zu Zu)



 ซูซู (Zu Zu)

ซูซู (Zu Zu) [note 1] เป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตชาวไทยที่ก่อตั้งโดย ระพินทร์ พุฒิชาติ หรือ ซู, น้าซู อดีตสมาชิกวงสองวัย และหัวหน้าวงกะท้อน ร่วมกับเพื่อนนักดนตรี เช่น เศก ศักดิ์สิทธิ์ , อู๊ด ยานนาวา, สุเทพ ปานอำพัน และ พันทิวา ภูมิประเทศ หรือ ทอม ดันดี

ประวัติ
ซูซูมีสตูดิโออัลบั้มชุดแรก คือ "สู่ความหวังใหม่" ในปี พ.ศ. 2532 โดยมี ยืนยง โอภากุล รับหน้าที่โปรดิวเซอร์ ร่วมแต่งเพลง กีตาร์โซโล่ และช่วยร้องเป็นบางเพลง และยังได้ เรืองยศ พิมพ์ทอง นักเรียบเรียงเสียงประสานจากอาร์เอส เข้าร่วมวงอีกแรงหนึ่งในตำแหน่งมือคีย์บอร์ดบันทึกเสียง(ไม่ปรากฏหน้าตาบนปกเทป) โดยเปิดตัวด้วยเพลง "อับดุลเลาะห์" เป็นเพลงที่กล่าวถึงการดำรงชีวิตของผู้คนในชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกี่ยวพันถึงโครงการฮารับปันบารู แต่เพลงที่โด่งดังมากที่สุดกลับเป็นเพลง "บ่อสร้างกางจ้อง" ที่สร้างชื่อเสียงอย่างสุดขีดให้กับวงรวมถึง ทอม ดันดี ผู้ขับร้อง ทำให้จังหวะสามช่ากลับมาคึกคักจนกลายเป็นเพลงตลาดไปในขณะนั้น
ในปี พ.ศ. 2533 ได้ออกอัลบั้มชุดที่สอง คือ "ปะการังไปไหน" โดยได้เพิ่มสมาชิกเข้ามาสร้างสีสันด้วยเสียงเครื่องเป่า คือ สมบัติ พรหมมา มือแซ็กโซโฟนจากวงลาโคนิคส์ และ ต่อศักดิ์ จันทร์กลัด ในตำแหน่งคีย์บอร์ด(ภายหลังเปลี่ยนเป็น สุริยันต์ ซื่อสัตย์ จากวงมิติ) มีเพลงดังคือ "มยุรา" ซึ่งร้องโดย ทอม ดันดี โดยเป็นเพลงที่กล่าวถึงความในใจที่มีต่อ มยุรา เศวตศิลา ดาราและพิธีกรตลอดกาล โดยมยุราได้แสดงมิวสิกวิดีโอด้วยในบทบาทพิธีกร จากนั้นซูซูมีผลงานเพลงตามมาอีกหลายชุด มีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกอยู่หลายครั้ง แต่มีสมาชิกที่ยืนหยัดอยู่คนเดียว คือ น้าซู ส่วน ทอม ดันดี ได้แยกตัวเป็นศิลปินเดี่ยว มีผลงานแสดงภาพยนตร์และละครหลายเรื่อง [5]

 ผลงาน

ออกอัลบั้มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532-ปัจจุบัน
  • สู่ความหวังใหม่ (พฤษภาคม 2532)
โปรดิวเซอร์ : ยืนยง โอภากุล บันทึกเสียง : มิกซ์ สตูดิโอ มิกซ์เสียง : คาราบาว สตูดิโอ
  • ปะการังไปไหน (กรกฎาคม 2533)
  • คนเค็ม เลคาว (มิถุนายน 2534)
  • ราชาสามช่า (ธันวาคม 2534)
โปรดิวเซอร์ : ซูซู บันทึกเสียงและมิกซ์เสียง : Center Stage
  • ดอกไม้พฤษภา
  • โทงเทง เถิดเทิง แท๊กซี่
  • ไข่มดแดง
  • สุดยอด
  • รักเด็กรุ่นน้อง
  • กังหันลมโบราณ
  • ปลาแดก
  • บ้าบอล
  • สาวชุดดำ

เพลงดัง

  • บ่อสร้างกางจ้อง (ทอม : ร้อง)
  • ยับเยิน (ทอม : ร้อง)
  • อ้อล้อ (อู๊ด : ร้อง)
  • ล่อนจ้อน (ทอม : ร้อง)
  • มยุรา (ทอม : ร้อง)
  • สาวมอญแม่เหมย (ทอม : ร้อง)
  • ราชาสามช่า (ซู,ทอม : ร้อง)
  • ไข่มดแดง (ซู : ร้อง)

 เชิงอรรถ

  1. ^ ชื่อวงมาจากชื่อเล่นของหัวหน้าวง (ซู) เอง แต่เผอิญไปตรงกับคำท้องถิ่นแถบหนึ่งของอินโดนีเซีย หรือเป็นคำในภาษายาวี แปลว่าอวัยวะส่วนหนึ่งซึ่งอยู่ระดับอกของหญิงสาว